วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ที่มาหลักสูตรครู 5 ปี

.......สังคมไทยมีรากฐานการศึกษาที่ฝังรากมายาวนาน โดยมีจุดกำเนิดจากการเรียนรู้สหวิทยาการทั้งหลาย จากพระสงฆ์ที่วัด ต่อมาจึงเกิดคำว่า ครุ ซึ่งแปลว่า ครู .ขึ้นมาเรียกขานผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา อบรมบ่มเพาะให้เด็ก ที่เป็นลูกศิษย์มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนเป็นคนดีประพฤติตน เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหากกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของวิชาชีพครูไทยนั้น จะพบว่า ในอดีตสังคมไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา............
.......
ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญของการให้ประชาชนได้รับการศึกษา ทรงเริ่มก่อตั้งโรงเรียน ในระบบการศึกษาในขณะนั้นเป็นการเตรียมคน เพื่อเข้ามารับราชการรองรับการขยายระบบราชการ กระทรวง ทบวง กรม ดังนั้นเมื่อมีโรงเรียนก็ต้องมีครูผู้สอนตามมา ซึ่งครูเหล่านี้กว่าจะมาเป็นครู สอนคนทั่วไปได้ต้องมีความรู้อะไรบ้าง และฝึกหัดการเป็นครูได้ที่ไหน เมื่อเริ่มมีโรงเรียนให้ประชาชน มาเรียนก็มีความต้องการครูผู้สอน จึงตั้ง โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2435 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนฝึกหัดครู และรวมเป็นแผนกหนึ่งในสังกัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ชื่อว่า แผนกคุรุศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2456 เพื่อไปสอนนักเรียน แต่ในระยะแรกการสอนของครูไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนกลัวข่าวลือว่า การเข้าเรียนจะเป็นวิธีการเกณฑ์ทหารแบบใหม่..........จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมี พระบรมราชโองการแก้ข่าวว่า การสนับสนุนให้คนไทยเรียนหนังสือเป็นการส่งเสริมให้คนมารับราชการจึงเกิดคำกล่าวที่ว่า ที่ให้เรียนเพื่อมารับราชการเป็นเจ้าคน นายคน ทำให้ชาวบ้านแห่มาเรียนหนังสือ เป็นจำนวนมาก ปรากฏว่า คนที่เรียนจบนั้นรับเป็นข้าราชการได้ไม่หมด ประเทศจึงเปลี่ยนแผนการศึกษาใหม่ ให้เป็นหลักสูตรที่สอนวิชาเกี่ยวกับอาชีพด้วย ทำให้ต้องการการผลิตครูสายอาชีพ หรือครูอาชีวศึกษา..........รศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงประวัติศาสตร์ การผลิตครูว่า เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสังกัดกรมมหาวิทยาลัย โรงเรียนฝึกหัดครู ที่กลายมาเป็น แผนกคุรุศึกษา ก็เปลี่ยนมาเป็นแผนกหนึ่งในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ใช้ชื่อว่า แผนกฝึกหัดครู เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีทาง อักษรศาสตร์และ
วิทยาศาสตร์ การเรียนวิชาครู จึงเป็นหลักสูตร 1 ปี หลังปริญญาตรี เรียกว่า ประกาศนียบัตรครูมัธยม (ปม.) จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2497 คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ ได้เปิดสอน หลักสูตรปริญญาครุศาสตร์ 1 ปี เป็นหลักสูตรปริญญาครูฉบับแรกของไทย รับผู้สำเร็จการศึกษา อบ.ปม. หรือ วท.บ.ปม. หรือ ปม.เข้าเรียน มีผู้สำเร็จการศึกษา ครุศาสตรบัณฑิต รุ่นแรกในปี พ.ศ.2498 หลังจากนั้นได้เปลี่ยนเป็นหลักสูตร ครุศาสตรบัณฑิต 2 ปี เป็นหลักสูตรหลังปริญญาตรี คือ รับผู้สำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอื่นมาเรียนวิชาครู ซึ่งกว่าจะเป็นครูได้ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี
..........จนเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2500 จึงมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะครุศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนหลักสูตร ครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี และจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2501 พร้อมทั้งเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2505 ในขณะนั้น คณะครุศาสตร์ เปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปีเป็นช่วงที่การศึกษาไทยเกิดการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตครูไม่เพียงพอ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบการศึกษาสาชาวิชาอื่นสามารถมาเป็นครูได้ จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ต้องจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งใหม่ จำนวน 36 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกกลายเป็นคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปแล้ว โดยโรงเรียนฝึกหัดครู ในสังกัด ศธ. ผลิตครูระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา(ปกศ.) เข้าไปสอนระดับประถมศึกษา พร้อมทั้งผลิตครูผู้สอนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง(ปกศ.สูง) เทียบเท่าอนุปริญญา ส่วนคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ผลิตครูระดับปริญญาตรีไปสอนระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย จะเห็นได้ว่าโรงเรียนฝึกหัดครูของ ศธ. มีวิวัฒนาการจากโรงเรียนฝึกหัดครูประจำจังหวัด และได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ในปัจจุบัน ซึ่งภาพรวม ของการขยายตัวของการผลิตครูป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย ดังนั้นครูจึงเป็นวิชาชีพเก่าแก่ ที่อยู่คู่กับการพัฒนาประเทศแต่ละยุคสมัย รศ.ดร.พฤทธิ์ ยังวิเคราะห์ถึงการผลิตครูในปัจจุบัน ว่า จากข้อมูลการสำรวจของสภาคณบดี คณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย พบว่า คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตบัณฑิตสาขาดังกล่าวรวมกันแล้วประมาณ ปีละ 12,000 คน สภาพการณ์ปัจจุบันมีคนจบปริญญาตรีสาขาวิชาครูเกินความต้องการ ค้างสต๊อกอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ระบบการศึกษาก็ขาดแคลนครูแบบ ค้างสต๊อกสะสมมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากไม่มีอัตราบรรจุเป็นข้าราชการครู ส่งผลกระทบถึงจำนวนครู ต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนตามมาด้วย คุณภาพของครูจึงมีผลกระทบต่อการเรียนการสอน สะท้อนผ่านผลการเรียนของนักเรียน คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า ในอดีตเคยใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางระดับชาติทดสอบ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนที่จบแต่ละช่วงชั้น แต่ระบบดังกล่าวถูกยกเลิกมา 20 ปีแล้ว โดยโรงเรียนและครูเป็นผู้วัดผลเองนั้นทำให้ระบบคุณภาพแย่ลงมาก เพราะครูบางคนสอนน้อย ก็ออกข้อสอบน้อยๆ และปล่อยให้นักเรียนสอบผ่านโดยง่าย ส่งผลให้เรามีเด็กที่จบประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านหนังสือไม่ออก หรืออ่านไม่แตกฉานจำนวนมาก ดังนั้นทุกฝ่ายจึงเร่ง นำผลการสอบโอเน็ตมาถ่วงดุลกับการจบ ม.6 เพื่อสะท้อนคุณภาพการผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพ จะเป็นกลไกสำคัญสะท้อนคุณภาพของครูอย่างชัดเจน กระตุ้นให้ครูเกิดความกระตือรือร้นในการค้นคว้า พัฒนาตนเองให้สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้าน ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพการผลิตครูของ มรภ.ทั้ง 40 แห่ง ทั่วประเทศว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) อยากให้ มรภ.ปรับทิศทางในการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งเป้าหมายไปที่การผลิตครูหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ตอบสนองการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูพร้อมทั้งเน้นพัฒนามาตรฐานการผลิตครูของมหาวิทยาลัย ดังนี้
...............1. พัฒนาคุณวุฒิและประสบการณ์การสอนของอาจารย์ผู้สอนคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เนื่องจากอนาคตอีก 10 ปีคณาจารย์เก่งๆ จะเกษียณอายุราชการไปหมด ดังนั้นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ ของอาจารย์รุ่นใหม่ให้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและสนับสนุนให้ทำวิจัยด้านการศึกษามากขึ้น
...............2. ขณะเดียวกัน มรภ.ควรมีบทบาทในการอบรมและพัฒนาครูประจำการในพื้นที่ให้ศึกษาต่อ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยเฉพาะการพัฒนาให้เป็นนักบริการการศึกษา
...............3. สำหรับการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีควรเน้นการผลิตครูในสาขาแคลน ได้แก่ วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ทั้งนี้การคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนในสาขาวิชาครูของมหาวิทยาลัยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมเสียใหม่ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องคัดเลือกนักเรียนระดับหัวกะทิมาเรียนวิชาครู ไม่ใช่ให้คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ของ มรภ.เป็นที่รองรับนักเรียนที่ไม่มีที่เรียน ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่รับบัณฑิตสาขานี้ไปทำงานต้องมีการยกระดับค่าตอบแทนครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนิสิต นักศึกษา
...............4. มรภ.ควรสร้างหอพักให้กับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการและใกล้ชิดอาจารย์ที่จะกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องพัฒนาทักษะและเทคนิคใหม่ๆ ให้กับนักศึกษาที่เข้าไปฝึกประสบการณ์สอนในสถานศึกษา ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียหรือประเทศญี่ปุ่นจะพบว่า มีการยกย่องวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพ ชั้นสูงและให้ค่าตอบแทนมากกว่าอาชีพอื่นๆ ทำให้ครูปรับปรุงพัฒนาการสอนตลอดเวลา สังคมไทยต้องหันมาผลักดันให้เด็กเก่งๆ มาเรียนสาขานี้ เช่นเดียวกับการให้เด็กเก่งมาเรียนหมอ เพราะครูเปรียบเสมือนหมอ ที่สร้างคนให้เป็นคนดีมีคุณภาพ จึงเป็นวิชาชีพสำคัญมาก ดร.สุชาติกล่าวด้วยว่า มรภ.ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตครูให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการคัดเลือกแล้วให้ทุนการศึกษากับนักเรียนเก่งๆ มาเรียนครู ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมีระบบคัดกรองที่ดี ขณะเดียวกัน ผมมองว่า มรภ.ควรเน้น การผลิตครูคุณภาพป้อนให้กับสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายคุณภาพไปยังสถานศึกษาต่างๆ ไม่ใช่ป้อนให้กับโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพียงอย่างเดียว ดร.สุชาติกล่าว
..........จากอดีตถึงปัจจุบันโรงเรียนฝึกหัดครูมีพัฒนาการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละห้วงเวลา เมื่อแผนการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น การปฏิรูปให้ความสำคัญกับครูมากขึ้น จึงเป็นภาระของโรงเรียนฝึกหัดครูทั้งหลาย ที่ต้องผลิตพ่อพิมพ์ และแม่พิมพ์ของชาติ มาทำหน้าที่ครูของนักเรียน คุณภาพของครูในอนาคตจึงอยู่ที่การฝึกหัดครูในวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น